แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (Ban Chiang Archaeological Site)
ความเป็นมา
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงตั้งอยู่ในประเทศไทย ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่ค้นพบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงให้เห็นขั้นตอนสำคัญของวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม สังคม และวิชาการของมนุษย์ รวมทั้งแสดงหลักฐานของการเกษตรกรรม แหล่งผลิตและการใช้โลหะในภูมิภาค
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งหนึ่ง อยู่ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ที่ทำให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัตศาสตร์ ย้อนหลังไปกว่า ๔,๓๐๐ ปี ร่องรอยของมนุษย์ในประเทศไทยสมัยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการแล้วในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความรู้ความสามารถหรือภูมิปัญญา อันเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยให้ผู้คนเหล่านั้นสามารถดำรงชีวิต และสร้างสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ได้สืบเนื่องต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน วัฒนธรรมบ้านเชียง ได้ครอบคลุมถึงแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกกว่าร้อยแห่งเป็น บริเวณพื้นที่ที่มีมนุษย์อยู่อาศัยหนาแน่นมาตั้งแต่หลายพันปีแล้ว ด้วยเหตุนี้เององค์การยูเนสโก ของสหประชาชาติจึงได้ยอมรับขึ้นบัญชีแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียงไว้เป็นแห่ง หนึ่งในบรรดามรดกโลก
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง เป็นพิพิธภัณฑ์ แหล่งหนึ่งที่สำคัญที่เก็บรักษาศิลปะเครื่องปั้นดินเผาของบ้านเชียง ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถไปเยี่ยมชมได้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ตั้งอยู่ในจังหวัดอุดรธานี การเดินทางไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง สามารถขับรถตามเส้นทางหมายเลข 22 เส้นอุดรธานี-สกลนคร ตรงกิโลเมตรที่ 50 ก็จะถึงปากทางเข้าบ้านปูลูก็ จะเห็นป้ายบอกทางไปพิพิธภัณฑ์ทางด้านซ้ายมือ เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2225 อีกประมาณ 6 กิโลเมตร ก็จะถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง
ที่ตั้งและลักษณะทางกายภาพ
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๖๐ กิโลเมตร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตั้งอยู่บนเนินดินสูง รูปยาวรี ตามแนวตะวันออก - ตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๔๐๐ ไร่ กลางเนินสูงกว่าพื้นที่รอบ ๆ ราว ๘ เมตร ราษฎรชาวบ้านเชียงในปัจจุบันมีเชื้อสายลาวพวนที่อพยพเคลื่อนย้ายชุมชนมาจากแขวงเชียงขวางประเทศลาว เมื่อ ๒๐๐ ปีมาแล้ว
ความสำคัญ
ด้วยคุณค่าและความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างแก่ชุมชนในปัจจุบัน บ้านเชียงได้กลายเป็นหมู่บ้านมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในฐานะแหล่งมรดกโลก ด้านวิชาการ ข้อมูล และโบราณวัตถุจำนวนมหาศาลได้รับการวิเคราะห์แปลความ โดยนักโบราณคดีที่ทำการศึกษาตามหลักวิชาการ แต่อย่างไรก็ตามแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้ถูกลักลอบขุดค้น และซื้อขายในตลาดมืดกันอย่างมากมาย โดยทางราชการก็ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พุทธ-ศักราช ๒๕๓๕ รวมถึงประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๘๙ ที่ห้ามการขุดค้นในพื้นที่บ้านเชียงและบริเวณโดยรอบ ปัจจุบันชุมชนบ้านเชียง ได้มีขยายตัวและพัฒนาอย่างรวดเร็ว เช่น การสร้างบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย จึงต้องเร่งกำหนดขอบพื้นที่ที่ชัดเจนและครอบคลุม เพื่อรักษาแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง มิให้ถูกทำลายหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ดังนั้นการสร้างความรู้ความเข้าใจ และความร่วมมือร่วมใจกันของทุกองค์กร ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อช่วยกันอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีที่มีความสำคัญแห่งนี้ไว้ให้เป็นมรดกตกทอดต่ออนุชนรุ่นหลังต่อไป
การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๓๕ จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๑๖ ที่เมืองแซนตาเฟ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีคุณสมบัติการเป็นมรดกโลกตรงตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
(iii) – เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยะธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
แหล่งที่มา http://www.thaiwhic.go.th/heritage_culture3.aspx ( 9 กรกฎาคม 2557)
แหล่งที่มา http://knowledge.truelife.com/content/detail/111544 ( 9 กรกฎาคม 2557)
เรียบเรียง : กรรณิการ์ ยศตื้อ
วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2557
เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns)
เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns)
ความเป็นมา
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ซึ่งมีความรุ่งเรืองในอดีตช่วงใกล้เคียงกันอาณาจักรสุโขทัยถือเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย เป็นศูนย์กลางความเจริญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 15 เมื่อปี พ.ศ. 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย โดยมีคุณสมบัติ คือ เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์ และ เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรม หรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
ที่ตั้งและลักษณะทางกายภาพ
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันออก ๑๒ กิโลเมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่ลานตะพัก มีลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกำแพงเมืองสลับกับคูน้ำล้อมรอบ ๓ ชั้น มีแนวเทือกเขาประทักษ์อยู่ทางด้านทิศตะวันตก ส่วนทางด้านทิศตะวันออกมีคลองแม่ลำพันไหลผ่าน ซึ่งจะไหลไปลงสู่แม่น้ำยมที่อยู่ห่างออกไปประมาณ ๑๒ กิโลเมตร
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองเก่าสุโขทัย ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๐๒ ได้ประกาศเขตโบราณสถานเนื้อที่ ๒,๐๕๐ ไร่ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๑๘ ได้ประกาศเขตเพิ่มเติมเป็นเนื้อที่ทั้งสิ้น ๔๓,๗๕๐ ไร่ หรือประมาณ ๗๐ ตารางกิโลเมตร
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มีระยะห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยไปทางทิศเหนือประมาณ ๖๐ กิโลเมตร ตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขาริมแม่น้ำยมทางฝั่งตะวันตก ลักษณะผังเมืองเป็นรูปหลายเหลี่ยมโค้งตามลำน้ำ มีกำแพงเมืองและคูเมืองล้อมรอบ
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัย ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ และต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ ได้ประกาศเขตโบราณสถานเนื้อที่ ๒๘,๒๑๗ ไร่ หรือ ๔๕.๑๔ ตารางกิโลเมตร
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร มีระยะห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยไปทางทิศใต้ประมาณ ๗๐ กิโลเมตร อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ลักษณะผังเมืองเป็นรูปคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมูวางแนวยาวขนานกับลำน้ำปิง มีกำแพงเมืองและคูเมืองล้อมรอบ
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองกำแพงเพชร ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ และต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๑๑ ได้ประกาศเขตโบราณสถานเนื้อที่ ๒,๑๑๔ ไร่ หรือประมาณ ๓.๔ ตารางกิโลเมตร
ความสำคัญ
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ในปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ มีลักษณะการใช้พื้นที่ทั้งส่วนที่เป็นโบราณสถานที่ได้รับการดูแลโดยกรมศิลปากร และพื้นที่ข้างเคียงซึ่งที่อยู่อาศัยของชุมชนท้องถิ่น โดยกำหนดและจัดสรรการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างชัดเจน รวมทั้งควบคุมสิ่งก่อสร้างและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยคณะกรรมการพิจารณาการอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารและใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตโบราณสถาน ร่วมกันพิจารณาเพื่อนำเสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมศิลปากรผู้อำนาจในการอนุญาต ปัจจุบันชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์เริ่มขยายตัวพร้อมๆ กับการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางของเมืองประวัติศาสตร์และเป็นเมืองมรดกโลก เช่น การสร้างอาคาร สิ่งก่อสร้างต่างๆ ขึ้นภายในเขตเมืองเก่า ตลอดจนบดบังทัศนียภาพ หรือสภาพภูมิทัศน์ ทำให้ขาดความสง่างามและคุณค่าของโบราณสถาน รวมทั้งการขาดหน่วยงานที่ต้องดำเนินการ ด้านอนุรักษ์การอย่างพอเพียง ดังนั้นจึงต้องสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ให้ตระหนักในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม และช่วยกันดูแลรักษาให้เป็นมรดกที่ทรงคุณค่าตกทอดไปสู่อนุชนรุ่นหลังสืบไป
การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ ๑๕ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย โดยมีคุณสมบัติการเป็นมรดกโลกตรงตามหลักเกณฑ์ข้อที่ ๑ และข้อที่ ๓ ดังนี้
(i) เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์
(iii) เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรม หรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
อ้างอิง :
แหล่งที่มา http://www.thaiwhic.go.th/heritage_culture3.aspx ( 9 กรกฎาคม 2557)
แหล่งที่มา http://knowledge.truelife.com/content/detail/111544 ( 9 กรกฎาคม 2557)
เรียบเรียง : กรรณิการ์ ยศตื้อ
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)