เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns)
ความเป็นมา
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ซึ่งมีความรุ่งเรืองในอดีตช่วงใกล้เคียงกันอาณาจักรสุโขทัยถือเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย เป็นศูนย์กลางความเจริญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 15 เมื่อปี พ.ศ. 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย โดยมีคุณสมบัติ คือ เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์ และ เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรม หรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
ที่ตั้งและลักษณะทางกายภาพ
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันออก ๑๒ กิโลเมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่ลานตะพัก มีลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกำแพงเมืองสลับกับคูน้ำล้อมรอบ ๓ ชั้น มีแนวเทือกเขาประทักษ์อยู่ทางด้านทิศตะวันตก ส่วนทางด้านทิศตะวันออกมีคลองแม่ลำพันไหลผ่าน ซึ่งจะไหลไปลงสู่แม่น้ำยมที่อยู่ห่างออกไปประมาณ ๑๒ กิโลเมตร
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองเก่าสุโขทัย ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๐๒ ได้ประกาศเขตโบราณสถานเนื้อที่ ๒,๐๕๐ ไร่ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๑๘ ได้ประกาศเขตเพิ่มเติมเป็นเนื้อที่ทั้งสิ้น ๔๓,๗๕๐ ไร่ หรือประมาณ ๗๐ ตารางกิโลเมตร
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มีระยะห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยไปทางทิศเหนือประมาณ ๖๐ กิโลเมตร ตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขาริมแม่น้ำยมทางฝั่งตะวันตก ลักษณะผังเมืองเป็นรูปหลายเหลี่ยมโค้งตามลำน้ำ มีกำแพงเมืองและคูเมืองล้อมรอบ
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัย ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ และต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ ได้ประกาศเขตโบราณสถานเนื้อที่ ๒๘,๒๑๗ ไร่ หรือ ๔๕.๑๔ ตารางกิโลเมตร
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร มีระยะห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยไปทางทิศใต้ประมาณ ๗๐ กิโลเมตร อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ลักษณะผังเมืองเป็นรูปคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมูวางแนวยาวขนานกับลำน้ำปิง มีกำแพงเมืองและคูเมืองล้อมรอบ
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองกำแพงเพชร ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ และต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๑๑ ได้ประกาศเขตโบราณสถานเนื้อที่ ๒,๑๑๔ ไร่ หรือประมาณ ๓.๔ ตารางกิโลเมตร
ความสำคัญ
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ในปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ มีลักษณะการใช้พื้นที่ทั้งส่วนที่เป็นโบราณสถานที่ได้รับการดูแลโดยกรมศิลปากร และพื้นที่ข้างเคียงซึ่งที่อยู่อาศัยของชุมชนท้องถิ่น โดยกำหนดและจัดสรรการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างชัดเจน รวมทั้งควบคุมสิ่งก่อสร้างและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยคณะกรรมการพิจารณาการอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารและใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตโบราณสถาน ร่วมกันพิจารณาเพื่อนำเสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมศิลปากรผู้อำนาจในการอนุญาต ปัจจุบันชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์เริ่มขยายตัวพร้อมๆ กับการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางของเมืองประวัติศาสตร์และเป็นเมืองมรดกโลก เช่น การสร้างอาคาร สิ่งก่อสร้างต่างๆ ขึ้นภายในเขตเมืองเก่า ตลอดจนบดบังทัศนียภาพ หรือสภาพภูมิทัศน์ ทำให้ขาดความสง่างามและคุณค่าของโบราณสถาน รวมทั้งการขาดหน่วยงานที่ต้องดำเนินการ ด้านอนุรักษ์การอย่างพอเพียง ดังนั้นจึงต้องสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ให้ตระหนักในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม และช่วยกันดูแลรักษาให้เป็นมรดกที่ทรงคุณค่าตกทอดไปสู่อนุชนรุ่นหลังสืบไป
การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ ๑๕ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย โดยมีคุณสมบัติการเป็นมรดกโลกตรงตามหลักเกณฑ์ข้อที่ ๑ และข้อที่ ๓ ดังนี้
(i) เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์
(iii) เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรม หรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
อ้างอิง :
แหล่งที่มา http://www.thaiwhic.go.th/heritage_culture3.aspx ( 9 กรกฎาคม 2557)
แหล่งที่มา http://knowledge.truelife.com/content/detail/111544 ( 9 กรกฎาคม 2557)
เรียบเรียง : กรรณิการ์ ยศตื้อ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น